รีเวทคืออะไร มาทำความรู้จักกันค่ะ

Aug 21, 2023
เรื่องทั่วไป
รีเวทคืออะไร มาทำความรู้จักกันค่ะ


รีเวท ( Rivet)

รีเวทคืออะไร มาทำความรู้จักกันค่ะ

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วนะคะว่าสิ่งเล็กๆ นั้นมักจะถูกสร้างมาเพื่อให้เป็นส่วนประกอบของผลงานอันยิ่งใหญ่ แน่นอนค่ะรวมทั้ง รีเวท ที่เราจะมาให้ข้อมูล มันเป็นอุปกรณ์เล็กๆ ทางการช่างที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในกลุ่มงานซ่อมบำรุงรวมทั้งงานช่างทั่วไป หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับคำนี้ และถ้าคุณไม่เห็นรีเวทอาจจะคิดว่ารีเวทนั้นคือตะปู หรือ สกรู ดังนั้นเราจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับรีเวทว่ามีลักษณะอย่างไร มีกี่ประเภท มีคุณสมบัติอย่างไรกันค่ะ


Cr.เว็บไซต์: Wikipedia.com

รีเวท (Rivet) หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่าหมุดย้ำ เป็นวัสดุใช้สำหรับยึดและเชื่อมส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างแน่นหนา เพื่อการประกอบชิ้นส่วนและการติดตั้งทำจากวัสดุชนิดต่างๆ อาทิเช่น เหล็ก ทองแดง ทองเหลือง อะลูมิเนียม สเตนเลส พลาสติก ประกอบด้วยส่วนหัว มีลักษณะเป็นทรงกลม และฐาน มีลักษณะเป็นแท่ง โดยนิยมใช้กับงานที่ต้องการเชื่อมติด หรือประกอบชิ้นส่วนหรือวัสดุแบบแผ่นบางเข้าด้วยกัน รูปร่างลักษณะของหัวรีเวทก็มีหลากหลายให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมของงาน อาทิเช่นบานพับประตูหรือในการประกอบตู้แร็ค (Rack) ของเรานั้นก็จะใช่รีเวทในการยึดไม้อัดแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน


ลักษณะของรีเวทจะคล้ายกับสกรูหรือตะปูที่ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือ แกนหรือก้าน (Mandrel) และส่วนหัวรีเวทหรือตัวรีเวท (Body) ซึ่งหลายๆ ท่านอาจจะนึกภาพออกแล้วใช่ไหมล่ะคะ การใช้งานของรีเวทมักจะประกอบใส่เข้ากับเครื่องมือสำหรับย้ำหมุดโดยเฉพาะ อาทิเช่น ปืนยิงรีเวทแบบมาตรฐาน ปืนยิงรีเวทความเร็วสูง หรือปืนยิงรีเวทแบบบรรจุรีเวทอัตโนมัติ และในปัจจุบันรีเวทถูกนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะยึดชิ้นงานไม้ พลาสติก หรือโลหะที่มีความแข็งแรงและความหนาแตกต่างกันได้ และใช้ในการประกอบชิ้นส่วนเครื่องกลแบบถาวร รีเวทนั้นก็จะมีหลายประเภทด้วยกัน มีลักษณะและคุณสมบัติต่างกัน เหมาะสมกับงานแต่ละงานต่างกันค่ะ มาดูกันเลยค่ะว่ารีเวทแต่ละชนิดต่างกันอย่างไรบ้าง


Cr.เว็บไซต์: Wikipedia.com

1. ลูกรีเวท (Blind Revet)

ลูกรีเวทหรือตะปูยิง มักจะนำไปใช้สำหรับยึดแผ่นชิ้นงาน 2 แผ่นขึ้นไปได้อย่างถาวร มีคุณสมบัติเด่นที่สามารถประกอบชิ้นงานเข้าด้วยกันโดยใช้การยึดชิ้นงานเพียงฝั่งเดียวซึ่งเป็นข้อดีกว่าการใช้สกรู หรือน็อตทั่วไปที่ต้องประกอบชิ้นงานจากทั้งสองด้าน ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการทำงานที่มีจำนวนมากได้ดี และยังประหยัดงบประมาณได้มากอีกด้วย ลูกรีเวทจะแบ่งย่อยได้อีก 2 ชนิดคือ

ลูกรีเวทแบบ (Closed type) ก้านโลหะของลูกรีเวทชนิดนี้จะมีลักษณะไม่ได้ยื่นออกมาจากลูกรีเวท ผู้คนมักนิยมใช้กับงานที่ต้องการกันน้ำหรือกันแก๊สรั่ว

ลูกรีเวทแบบ (Open type ) ก้านโลหะของลูกรีเวทชนิดนี้จะมีลักษณะยื่นออกมาจากลูกรีเวท ผู้คนมักนิยมใช้กันมากในงานประกอบแผ่นเหล็กทั่วไป

 


Cr.เว็บไซต์: Pixabay


 

 

2. รีเวทนัท (Rivet nut)  

รีเวทชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นทรงกระบอกกลวงพร้อมกับมีเกลียวด้านใน การใช้งานคล้ายกับลูกรีเวทที่สามารถยึดชิ้นงานได้จากทางด้านเดียว แต่มีคุณสมบัติเด่นกว่าที่มีความแข็งแรงและทนทานสูงกว่า เหมาะสำหรับใช้ยึดแผ่นชิ้นงานที่มีขนาดความหนาได้อย่างดี และใช้ยึดแผ่นชิ้นงานที่มีความบางได้โดยไม่แตกหักเสียหายอีกด้วย โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้

รีเวทนัทแบบปลายปิด (Closed end rivet nut) รีเวทนัทชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นเกลียวอยู่ด้านในเพื่อประกอบเข้ากับเครื่องยิงรีเวท และเมื่อสังเกตว่าปลายทั้งสองด้านจะไม่สามารถมองทะลุผ่านได้

รีเวทนัทแบบปลายเปิด (Open Type) รีเวทนัทชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นเกลียวอยู่ด้านในเพื่อประกอบเข้ากับเครื่องยิงรีเวท และเมื่อสังเกตว่าปลายทั้งสองด้านสามารถมองทะลุผ่านได้

 

3. รีเวทแบบแข็ง (Solid Rivet)

รีเวทแบบแข็ง หรือมีอีกชื่อเรียกว่า มุดย้ำอลูมิเนียมหัวกลม/หัวแบน  ลักษณะสังเกตคือเป็นหมุดทรงกระบอกคล้ายกับรีเวทนัท แต่รีเวทแบบแข็งด้านในจะตันและส่วนหัวมีทั้งแบบหัวกลมและหัวแบนใช้งานง่ายสามารถติดตั้งได้ด้วยการเจาะรูทะลุบนชิ้นงานและสอดหมุดเข้าไป หลังจากนั้นสามารถตอกด้วยค้อนหรือเครื่องย้ำหมุดได้ทันที รีเวทชนิดนี้ สามารถใช้ยึดชิ้นงานอุตสาหกรรมได้หลายประเภท เช่น งานต่อเรือ งานประกอบเฟรมรถ การเชื่อมติดบานพับประตู หรือประยุกต์ใช้ในงานฝีมือทั่วไปได้ตามต้องการ


Cr.เว็บไซต์: Wikipedia.com


Cr.เว็บไซต์: Wikipedia.com

4.พีลรีเวท (Peel rivet)

พีลรีเวทหรือรีเวทดอกไม้ เป็นรีเวทที่นิยมนำไปใช้กับการยึดชิ้นงานที่มีความบางและแข็งแรงน้อย ตัวอย่างเช่น ไม้ วัสดุพลาสติก และแผ่นยิปซั่มบอร์ด เป็นต้น รีเวทชนิดนี้ประกอบด้วยวัสดุที่แตกต่างกันสองชนิดนนั้นก็คือ ดอกรีเวท (Body) ทำมาจากอลูมิเนียม และตัวก้าน (mandrel) ทำจากเหล็ก ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการแยกส่วนปลายของรีเวทให้กางออกเป็น 4 แฉกคล้ายกับดอกไม้ ซึ่งข้อดีของการแยกขาออกเป็น 4 แฉกนั้นช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัสในการยึดให้กับชิ้นงาน นอกจากนี้ยังช่วยกระจายแรงในการยึดติดได้อีกด้วย ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกรีเวทจะจมลงในเนื้อวัสดุอ่อนแล้วเกิดความเสียหายได้

เป็นยังไงบ้างค่ะหมุดเล็กๆ เหล่านี้มีหน้าที่และประโยชน์หลายอย่างเลยใช่ไหมคะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นแนวทางให้คุณได้เลือกใช้หมุดแต่ละชนิดได้อย่างมืออาชีพ และเหมาะสมกับงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ชิ้นงานนั้นมีคุณภาพ ปลอดภัยนะคะ